โฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ที่ 4 ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ตั้งกระจายอยู่รอบป่าใหญ่บนพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ในลุ่มน้ำปิงตอนบน ตั้งอยู่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง มีเนื้อที่ป่าประมาณ 8,000 ไร่ ในเขตรับผิดชอบของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ประชากรที่อาศัยอยู่มีทั้งคนเมืองและ ชาวเขาเผ่าม้ง เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวกับการผลิตเมี่ยงแทบทุกหลัง เมี่ยงจึงถือเป็นวัฒนธรรมการเกษตรแบบดั้งเดิม และเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในพื้นที่สูงที่สำคัญ และจากคำบอกเล่าพบว่า ชุมชนบ้านเหล่าเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานกว่า 200 ปี จึงไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่แน่นอนได้ว่าเริ่มมีการอาศัยป่าเพื่อทำประโยชน์จากสวนเมี่ยงมาเป็นเวลานานเท่าไหร่ แต่ชุมชนมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงต่อกัน ทั้งในระบบเครือญาติและคนบนพื้นที่สูง เดิมขึ้นอยู่กับ ตำบลสบเปิง ต่อมาได้แยกเป็นตำบลเมืองก๋าย เมื่อปี พ.ศ. 2520 ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 4 ตำบลเมืองก๋าย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ แบ่งออกเป็น 6 หย่อมบ้าน
โฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนา อยู่ในกลุ่มเครือข่ายการท่องเที่ยวม่อนเงาะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองก๋าย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนกลุ่มแม่บ้าน ตัวแทนชาวบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ และจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วไป
กลุ่ม โฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนา ได้รับคัดเลือกให้ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย หรือที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทมาตรฐานไทย หมายถึง บ้านที่อยู่ในชุมชนชนบทที่มีประชาชนในชุมชนเป็นเจ้าของ และเจ้าของบ้านหรือสมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่ประจำ หรือใช้ชีวิต ประจำวันอยู่ในบ้านดังกล่าว นอกจากนี้ บ้านดังกล่าวต้องมีความพร้อมในการเป็นโฮมสเตย์ ระหว่างปี 2556 – 2559
กิจกรรมท่องเที่ยว
- ชมวิวบนยอด ดอยม่อนเงาะ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นยอดดอยที่สลับและลดหลั่นกันไปไกลสุดลูกหูลูกตา โดยทางด้านทิศตะวันตกจะเห็น ดอยอินทนนท์ ถัดมาทางด้านทิศเหนือจะเป็น ดอยฟ้าห่มปก และถัดมาประมาณด้านตะวันออกจะเป็นดอยหลวงเชียงดาว ในช่วงฤดูหนาวสามารถขึ้นมาชมทะเลหมอกและรับลมหนาว ที่เย็นจับใจได้อีกที่หนึ่ง ด้วยความสูงประมาณ 1420 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และยังสามารถพบ เงือกผา สมุนไพรต่าง ๆ ต้นปรง ดอกเสี้ยว (กพ.) และไม้ป่านานาชนิด
- ล่องแพลำน้ำแม่แตง ที่บ้านสบก๋าย ซึ่งมีให้เลือกทั้งแพไม้ไผ่และแพยาง ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร
- แปลงเกษตรกรศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อาทิ แปลงส่งเสริมไม้ดอก ได้แก่ ซิมบิเดี้ยม พืชผัก ได้แก่ ฟักทองญี่ปุ่น หอมญี่ปุ่น กระเทียมต้ม แปลงปลูกชาจีน โรงเพาะเห็ด
- เที่ยวสวนส้ม ของเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง มีพื้นที่ประมาณ 160 ไร่ ระยะทางจากศูนย์ประมาณ 2 กิโลเมตร
- เที่ยวและชิมชา ที่ ไร่ชาลุงเดช ซึ่งปลูกชาพันธุ์ดี 2 สายพันธุ์ คือ ชาเบอร์ 12 กับ พันธุ์ก้านอ่อน และที่นี่มีบ้านพักและเต้นท์ให้บริการ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 15-20 คน
- ชมการผลิตเมี่ยงแบบดั้งเดิมเรียนรู้การเก็บและแปรรูปเมี่ยงอาหารขึ้นชื่อของชุมชนบ้านเหล่า
- ชมวิถีชีวิตชาวบ้าน โม่หินหัวใจ โรงตีเหล็กบ้านม้งโบราณ บ้านม้งผมยาว
- ประเพณีปีใหม่ม้ง จัดขึ้นทุก ๆ ปีระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
จำนวนที่พัก
- โฮมสเตย์ ที่ได้มาตรฐาน 6 หลัง
ราคาที่พักและค่าใช้จ่ายกิจกรรม
- พัก 1 คืน 2 วัน อาหาร 3 มื้อ 450 บาท/คน
- พัก 2 คืน 3 วัน อาหาร 6 มื้อ 700 บาท/คน
- พักต่อจากนี้ 1 วัน 1 คืน อาหาร 3 มื้อ 350 บาท
- บริการมัคคุเทศก์นำเที่ยว 300 บาท/วัน
ค่าการแสดง
- บายศรีสู่ขวัญ 1,000 บาท/คณะ
- ระบำใบเมี่ยง 1,000 บาท/คณะ
- ฟ้อนดาบ ตีกลองสะบัดชัย 1,000 บาท/คณะ
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
- ผลิตภัณฑ์ชา กาแฟ
- ผลิตภัณฑ์จากต้นก้อ สินค้าชุมชนของจากกลุ่มจักรสานบ้านก๋ายน้อย
- ผัก ผลไม้ ตามฤดูกาล
อาหารเด่นในชุมชน
- ผัดฟักทองใส่ไข่
- แกงยอดก้อ
- ยำใบเมี่ยง
- แหนมเห็ด
- น้ำพริกตาแดง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
- ปางช้างแม่แตง
การเดินทาง
- เริ่มต้นเดินทางจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางโดยใช้เส้นทางหมายเลข 107 มุ่งหน้าไปทางอำเภอแม่ริม เข้าสู่อำเภอแม่แตง จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1095 (เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางไปสู่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทาง 100 กิโลเมตรกว่า ๆ) เข้าไประยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบอกทางเข้าสู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ และตำบลเมืองก๋าย
การติดต่อ
- โฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ที่ 4 ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50150 E-Mail : Banlaohomestay@hotmail.com
- นางพิจิตร เพชรพลอยศรี โทร 087-183-6415 หรือ 086-193-7383
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ โทร. 095-685-2525
ขอขอบคุณ
- ข้อมูลและภาพประกอบจาก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง